Microworlds

Microworlds เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Constructionism ในยุคเริ่มต้น Microworlds เป็นชื่อ Software (ปัจจุบันเลิกผลิตแล้ว) ที่ช่วยให้คนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนเขียนโปรแกรมเป็นอาชีพได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงกระบวนการเขียนโปรแกรม (Programming หรือ Coding) ได้ไม่ยากเกินไป ประสบการณ์การเขียนโปรแกรมนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ฝึกฝนกระบวนการคิด Computational Thinking ได้อย่างเป็นธรรมชาติ (ตามแนวคิดของอาจารย์ซีมัวร์ แพบเพิร์ธ) ผ่านการสร้างชิ้นงานตนเองในคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่า ในรูปแบบ Animation หรือการจำลองกระบวนการต่างๆ (Simulation) หรือการทำเป็นเกมส์ฯ การสร้างชิ้นงานในคอมพิวเตอร์ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้าง ทำงานที่ตนเองสนใจได้ เนื่องจากเครื่องมือคอมพิวเตอร์มีความยืดหยุ่นที่จะรองรับ ความคิด ความสนใจที่หลากหลายในผู้เรียนได้ (อ้างอิงจากหนังสือ Mindstorms ของอาจารย์ซีมัวร์ แพบเพิร์ธ)

การเขียนโปรแกรมใน Microworlds นี้ เป็นการฝึกฝนการเขียนโปรแกรมในยุคแรกเริ่ม ที่ยังเป็นการเขียนโปรแกรมผ่านตัวหนังสือ (Text based) ที่จะต้องพิมพ์ตัวอักษร สื่อสารกับคอมพิวเตอร์ผ่านคำต่างๆ ที่เป็นภาษา LOGO (ภาษาหนึี่งในภาษาคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกันกับภาษาซี จาวาฯ ) เป็นคำภาษาอังกฤษง่ายๆ ตัวอักษรย่อ เพียงแค่เรียงลำดับถูกต้อง คอมพิวเตอร์ก็จะทำงานตามคำสั่งของเรา ซึ่งในยุคหลังตั้งแต่ปี 2007 ก็ได้เริ่มมีการเขียนโปรแกรม Scratch (ซอฟท์แวร์ฟรี จากสถาบัน MIT Media Lab) ซึ่งถูกพัฒนามาจากความคิดและการเรียนรู้ Constructionism ซึ่งเป็นการเขียนโปรแกรมผ่านการลากบล็อกตัวต่อ มาต่อกัน ทำให้การเขียนโปรแกรมง่ายขึ้นไปอีก สำหรับผู้ที่ไม่เคยเรียนเขียนโปรแกรมมาก่อน

เราได้ประโยชน์อะไรจากการเขียนโปรแกรม? การฝึกเขียนโปรแกรมนี้ทำให้เราได้เข้าถึงประสบการณ์การคิดหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ในการฝึกฝนความคิดของตนเอง เช่น การคิดเป็นลำดับขั้นตอน (Algorhithm) การคิดแยกแยะส่ิงที่ซับซ้อนออกมาเป็นองค์ประกอบต่างๆ ที่เข้าใจง่ายขึ้น (Decomposition) การฝึกทักษะในการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น การเห็นระบบ เห็นรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ (Paterrn recognition) ซึ่งเป็นรากฐานของการแก้ปัญหาหรือการสร้างงานอย่างเป็นระบบ เป็นวงจรที่เข้าใจง่าย และการคิดเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นรูปธรรม (สิ่งที่เกิดขึ้น) เป็นความคิดรวบยอดที่เป็นนามธรรม (Abstraction) ความคิดทั้ง 4 อย่างนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ Computational Thinking ที่เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในภายหลัง ซึ่งการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา LOGO หรือการเขียนโปรแกรมด้วย ฺBlock based ในแนวทาง Constructionism จะเป็นการเน้นให้เกิดประสบการณ์เกิดทักษะ Computational Thinking ผ่านการสร้างชิ้นงาน การสร้างผลงานอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนเรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่านการสร้างชิ้นงานที่เราสนใจ จะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ และเราจะรู้สึกสนุก เพลิดเพลินกับการเรียนรู้และส่งผลให้เราชอบและอยากพัฒนาตนเองต่อไป

การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การเขียนโปรแกรมนี้ อยู่บนรากฐานแนวคิด Mathland ของอาจารย์ซีมัวร์ แพบเพิร์ธ ที่เสนอแนวคิดว่า เราเรียนรู้ได้ดี เมื่อเราได้มีโอกาสอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่ส่งเสริมให้เราใช้ความรู้นั้น จะทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้ผลของการเรียนรู้ดีขึ้น ทำให้จำได้ ใช้งานเป็น และเกิดความชอบ และรักที่จะพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ เหมือนกับการเรียนภาษา ถ้าเราเกิดเป็นเด็กในประเทศฝรั่งเศส เราจะเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสได้อย่างเป็นธรรมชาติ และเรียนรู้ได้ดีมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการอยู่ประเทศอื่น ที่ไม่ได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสและต้องมานั่งเรียนจากตำราในห้องเรียน เนื่องจาก เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสตลอดเวลา ในการเดินทาง การดำรงชีวิต การทำงานฯ อาจารย์ซีมัวร์ชี้ให้เห็นว่า ธรรมชาติการเรียนรู้เป็นแบบนีิ้ คือเราเรียนรู้ผ่านการอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น ฝึกฝนตนเอง และซึมซับจากสิ่งแวดล้อม เอาเข้ามาเป็นความรู้แท้ของตัวเราเอง (Absorbtion, Assimilation and Accomodation) ตามแนวทางการเรียนรู้ Constructionism และเมื่อเราได้สร้างบางอย่างขึ้นมาเป็นรูปธรรมจะทำให้เรามีโปรเจ็คที่ทำให้เราเรียนรู้เรื่องนั้นได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกขึ้น และเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นที่มาของ Constructionism ที่ต่อยอดจาก Constructivism ของอาจารย์ ฌอง เพียเจต์ (อาจารย์ของอาจารย์ซีมัวร์ แพบเพิร์ธ)

อาจารย์ซีมัวร์ได้ชี้ให้เห็นว่า หากเราสามารถทำความรู้อื่นๆ เช่นคณิตศาสตร์ ที่แสนจะน่าเบื่อในการเรียนในห้องเรียนตามปกติ โดยสร้างเป็น Mathland คือดินแดนแห่งคณิตศาสตร์ ที่เราจะใช้แนวคิดที่น่าสนใจหลายๆ อย่างในคณิตศาสตร์ จะทำให้เราเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้ดีมากขึ้น เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ และเราจะรักที่จะพัฒนาความรู้ทางคณิตศาสตร์ของเราไปเองอย่างเป็นธรรมชาติ และนี่เป็นที่มาของจุดเริ่มต้นที่อาจารย์ได้สร้างภาษา LOGO นี้ขึ้นมา เป็นจุดเริ่มต้นของ Mathland ในโปรแกรม Microworlds, Scratch, Stars Logo, NetLogo และอื่นๆ ซึ่งทำให้เราเรียนรู้ ซึมซับ Computational Thinking ผ่านการสร้างชิ้นงานใน Mathland อย่างเป็นธรรมชาติ

ในประเทศไทยได้มีการนำเวิร์คช้อป Microworlds มาประยุกต์และผสมผสานกับกิจกรรมพัฒนา Soft skills ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถสังเกตกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ นอกเหนือไปจากการนั่งเขียนโปรแกรมเพียงอย่างเดียว และทำให้ผู้เรียนสามารถฝึกฝนการคิด Computational Thinking และทำความเข้าใจประสบการณ์การเรียนรู้ Constructionism ได้อย่างคมชัดมากขึ้น ผ่านกระบวนการ Reflection กิจกรรม Microworlds เวิร์คช้อปนี้ มีผู้สอนได้สืบทอด และดัดแปลงไปอย่างหลากหลายในเวลาต่อมา มีทั้งเวิร์คช้อปที่ยังคงใช้ซอฟท์แวร์ Microworlds แบบ Original และมีเวิร์คช้อปอื่นๆ ที่นำแนวคิดพื้นฐาน ไปปรับใช้กับเครื่องมือการเรียนรู้อื่นๆ ที่มีหลากหลายมากขึ้น ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ผู้สอน Microworlds นับตังแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
อาจารย์สุชิน เพ็ชรักษ์
อาจารย์อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ
อาจารย์ทวีศักดิ์ ไชยองค์การ
อาจารย์ภาวนา วงศ์โสม
อาจารย์นลิน ตุติยาพึงประเสริฐ
อาจารย์นุศรินทร์ นุเสน